045piyaphon : ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)


ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
ทิศนา  แขมมณี (2547 : 68-72) ได้รวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยมไว้ว่า นักคิดกลุ่มมนุษยนิยมให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลได้รับอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นักจิตวิทยาคนสำคัญในกลุ่มนี้คือ มาสโลว์ (Maslow) รอเจอร์ส (Rogers) โคมส์ (Combs) โนลส์ (Knowles) แฟร์ (Faire) อิลลิช (Illich) และนีล (Neil)
1. ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ (Maslow, 1962)
          ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
          1) มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น คือ ขั้นความต้องการทางร่างการ (physical need) ขั้นความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (safety need) ขั้นความต้องการความรัก (love need) ขั้นความต้องการยอมรัยและการยกย่องจากสังคม (esteem need) และขั้นความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ (self-actualization) หากความต้องการขั้นพื้นฐานได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียงสำหรับตนในแต่ละขั้น มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น
          2) มนุษย์มีความต้องการที่จะรู้จักตนเองและพัฒนาตนเอง ประสบการณ์ที่เรียกว่า “peak experience” เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่อยู่ในภาวะดื่มด่ำจากการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง มีลักษณะน่าตื่นเต้น เป็นความรู้สึกปีติ เป็นช่วงเวลาที่บุคคลเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างถ่องแท้ เป็นสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะผสมผสานกลมกลืน เป็นช่วงเวลาแห่งการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง บุคคลที่มีประสบการณ์เช่นนี้บ่อย ๆ จะสามารถพัฒนาตนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          1) การเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์สามารถช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของบุคคลได้
          2) การที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เขาต้องการเสียก่อน
          3) ในกระบวนการเรียนการสอน หากครูสามารถหาได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความต้องการอยู่ในระดับใด ครูสามารถใช้ความต้องการพื้นฐานของผู้เรียนนั้นเป็นแรงจูงใจ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
          4) การช่วยให้ผู้เรียนได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนอย่างเพียงพอ การให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนนการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง
2. ทฤษีการเรียนรู้ของรอเจอร์ส (Rogers, 1969)
          ก. ทฤษฎีการเรียนรู้
          มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้ดีหากอยู่ในสภาพที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ การจัดบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนรู้ (supportive atmosphere) และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered teaching) โดยครูใช้วิธีการสอนบี้แนะ (non-directive) และทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน (facilitator) และการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการ (process learning) เป็นสำคัญ
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          1) การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้อบอุ่น ไม่น่าหวาดหลัว น่าไว้วางใจ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
          2) ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพและแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองอยู่แล้ว ครูจึงควรสอนแบบชี้แนะ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้นำทางในการเรียนรู้ของตน (self-directed) และคอยช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนอย่างสะดวกและบรรลุผล
          3) ในการจัดการเรียนการสอนควรเน้นการเรียนรู้กระบวนการเป็นสำคัญ เป็นเครื่องมือสำคัญที่บุคคลใช้ในการดำรงชีวิตและแสวงหาความรู้ต่อไป

3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโคมส์ (Combs)
          ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
          ความรู้สึกของผู้เรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้มาก เพราะความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          การคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เรียน การสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
4. แนวคิดเกี่ยวกับเรียนรู้ของโนลส์ (Knowles)
          ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
          1) ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้มากหากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
          2) การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นกระบวนการภายใน อยู่ในความควบคุมของผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนจะนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะและค่านิยมต่าง ๆ เข้ามาสู่การเรียนรู้ของตน
          3) มนุษย์จะเรียนรู้ได้ดีหากมีอิสะที่จะเรียนในสิ่งที่ตนต้องการและด้วยวิธีการที่ตนพอใจ
          4) มนุษย์ทุกคนมีลักษณะเฉพาะตน ความเป็นเอกัตบุคคลเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มนุษย์ควรได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาความเป็นเอกัตบุคคล
          5) มนุษย์เป็นผู้มีความสามารถและเสรีภาพที่จะตัดสินใจ และเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ตนพอใจ และรับผิดชอบในผลของการกระทำนั้น
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          1) ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน รับผิดชอบร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้
          2) ในกระบวนการเรียนรู้ ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ เจตคติและค่านิยมต่าง ๆ ของตน เข้ามาใช้ในการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ ประสบการณ์ใหม่
          3) ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนด้วยตนเอง
          4) ในกระบวนการเรียนการสอน ครูควรเข้าใจและส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณสมบัติเฉพาะตน ไม่ควรปิดกั้นเพียงเพราะเขาไม่เหมือนคนอื่น
          5) ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนตัดสินใจด้วยตนเอง ลงมือกระทำ และยอมรับผลของการตัดสินใจหรือการกระทำนั้น
5. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแฟร์ (Faire)
         ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
         เปาโล แฟร์ เชื่อในทฤษฎีของผู้ถูกกดขี่ (pedagogy of the oppressed) เขากล่าวว่า ผู้เรียนต้องถูกปลดปล่อยจากการกดขี่ของครูที่สอนแบบเก่า ผู้เรียนมีศักยภาพและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          ระบบการจัดการศึกษา ควรเป็นระบบที่ให้อิสรภาพและเสรีภาพในการเรียนแก่ผู้เรียน
6. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอิลลิช (Illich)
          ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
          อิวาน อิลลิช ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับการล้มเลิกระบบโรงเรียน (deschooling) ไว้ว่า สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมที่ต้องล้มเลิกระบบโรงเรียน การศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตแบบเป็นไปตามธรรมชาติ โดยให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุคคลอย่างเต็มที่
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          การจัดการศึกษาไม่จำเป็นต้องจัดทำในลักษณะของระบบโรงเรียน ควรจัดในลักษณะที่เป็นการศึกษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตไปตามธรรมชาติ
 7. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนีล (Neil)
          ก. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้
          นีล กล่าวว่า มนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรี มีความดีโดยธรรมชาติ หากมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น บริบูรณ์ไปด้วยความรัก มีอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม
          ข. หลักการจัดการศึกษา/การสอน
          การให้เสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียนในการเรียน เรียนเมื่อพร้อมที่จะเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามธรรมชาติ

 ประสาท  อิศรปรีดา (2538) ได้กล่าวไว้ดังนี้ นักทฤษฎีมนุษย์นิยมที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ มาสโลว์และโรเจอร์ นักจิตวิทยากลุ่มนี้เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า จิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมและจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่ชัดเจนเพียงพอ จิตวิทยา มนุษย์นิยมจะอธิบายเรื่องแรงจูงใจของมนุษย์ โดยเน้นย้ำที่อิสรภาพของบุคคลในการที่จะเลือกกระทำ กำหนดแนวทางพฤติกรรมของตนเอง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพแห่งตน จิตวิทยากลุ่มนี้จะเน้นความสำคัญของแรงจูงใจภายใน ซึ่งบางท่านมีทรรศนะว่า ความต้องการนับถือตนเองและความต้องการตระหนักในตนเพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งตน เป็นศูนย์กลางของการแสดงพฤติกรรมทั้งหลาย

            มัณฑรา ธรรมบุศย์ (2559) ได้กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีมนุษยนิยมมีวิวัฒนาการมาจากทฤษฎีกลุ่มที่เน้นการพัฒนาตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นกระบวนการมากยิ่งขึ้น กลุ่มทฤษฎีมนุษยนิยมเป็นทฤษฎีที่คัดค้านการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์แล้วมาใช้อ้างอิงกับมนุษย์และปฏิเสธที่จะใช้คนเป็นเครื่องทดลองแทนสัตว์ นักทฤษฎีในกลุ่มนี้เห็นว่ามนุษย์มีความคิด มีสมอง มีอารมณ์และอิสรภาพในการกระทำ การเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีนี้เชื่อว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านความเข้าใจ ทักษะและเจตคติไปพร้อม ๆ กันโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม การแสดงออกตลอดจนการเลือกเรียนตามความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก บรรยากาศในการเรียนเป็นแบบร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกันอาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่ช่วยเหลือให้กำลังใจและอำนวยความสะดวกในขบวนการเรียนของผู้เรียนโดยการจัดมวลประสบการณ์ เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
          หลักการหรือความเชื่อของทฤษฎีมนุษยนิยม คือ
          1. มนุษย์มีธรรมชาติแห่งความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
          2. มนุษย์มีสิทธิในการต่อต้านหรือไม่พอใจในผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ แม้สิ่งนั้นจะได้รับการยอมรับว่าจริง
          3. การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด หรือมโนทัศน์ของตนเอง

สรุป
          มนุษย์ว่ามีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลได้รับอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านความเข้าใจ ทักษะและเจตคติไปพร้อมๆ กันโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม การแสดงออกตลอดจนการเลือกเรียนตามความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก
            
ที่มา
ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
ประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ประสาท อิศรปรีดา. (2538). ทฤษฎีการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : บำรุงสาน์ส.
มัณฑรา ธรรมบุศย์. (2559). https://sites.google.com/site/psychologybkf1/home/
citwithya-kar-reiyn-ru/thvsdi-kar-reiyn-ru-klum-mnusy-niym. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

045piyaphon :การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ Student Team Achievement Division (STAD)

045piyaphon : ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)