045piyaphon : ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism)

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism)
ทิศนา แขมมณี (2547 : 59-68) ได้รวบรวมไว้ว่า กลุ่มพุทธินิยม หรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจ หรือกลุ่มที่เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด นักคิดกลุ่มนี้เริ่มขยายขอบเขตของความคิดที่เน้นทางด้านพฤติกรรมออกไปสู่กระบวนการทางความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง นักคิดกลุ่มนี้เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล การสร้างความหมาย และความสำคัญของข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่างๆ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง
ทฤษฎีในกลุ่มนี้ที่สำคัญๆ มี 5 ทฤษฎี ดังนี้
1. ทฤษฎีเกสตัลท์ (Gestalt Theory)
เกสตัลท์ เป็นคำศัพท์ในภาษาเยอรมันมีความหมายว่า “แบบแผน” หรือ “รูปร่าง” (form or pattern) ซึ่งในความหมายของทฤษฎี หมายถึง “ส่วนรวม” (wholeness) แนวความคิดหลักของทฤษฎีนี้ก็คือ ส่วนรวมมิใช่เป็นเพียงผลรวมของส่วนย่อย ส่วนรวมเป็นสิ่งที่มากกว่าผลรวมของส่วนย่อย (the whole is more than the sum of the parts) กฎการเรียนรู้ของทฤษฎีนี้สรุปได้ดังนี้ (Bigge, 1982: 190-202)
2. ทฤษฎีสนาม (Field Theory)
เคิร์ท เลวิน (Kurt Lewin) เป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีนี้ คำว่า "field" มาจากแนวคิดเรื่อง "field of force" พฤติกรรมของคนมีพลังและทิศทาง สิ่งใดที่อยู่ในความสนใจและความต้องการของตนจะมีพลังเป็น + สิ่งที่นอกเหนือจากความสนใจจะมีพลังงานเป็น- การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแรงจูงใจหรือแรงขับที่จะกระทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ
3. ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory)
ทอลแมน (Tolman) กล่าวว่า “การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องมือเป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุดหมายปลายทาง ในการเรียนรู้ต่างๆ ผู้เรียนมีการคาดหมายรางวัล (reward expectancy) หากรางวัลที่คาดว่าจะได้รับไม่ตรงตามความพอใจและความต้องการ ผู้เรียนจะพยายามแสวงหารางวัลหรือสิ่งที่ต้องการต่อไป
4. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory)
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget) การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่างๆ เป็นลำดับขั้น เจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็ว
 5. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning) ของเดวิด ออซูเบล (David Ausubel) เชื่อว่าการเรียนรู้จะมีความหมายแก่ผู้เรียนหากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รู้มาก่อน (Ausubel, 1963: 77-97) การนำเสนอความคิดรวบยอดหรือกรอบมโนทัศน์ หรือกรอบความคิด (Advance Organizer) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระนั้นๆ จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระนั้นยังมีความหมาย

สยุมพร ศรีมุงคุณ (2554) ได้รวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยมไว้ดังนี้ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism) เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล การสร้างความหมายและความสัมพันธ์ของข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่างๆ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง
   
Maesinee Fuguro (2558) ได้รวบรวมทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยมไว้ดังนี้ ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธินิยมนี้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการตั้งวัตถุประสงค์ การวางแผน ความตั้งใจ ความคิด ความจำ การคัดเลือก การให้ความหมายกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ได้จากประสบการณ์ เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง ทฤษฎีในกลุ่มนี้ที่สำคัญ ๆ มี 5 ทฤษฎี ดังนี้
            1. ทฤษฎีเกสตัลท์ (Gestalt Theory) เน้นกระบวนการคิด การสอนโดยเสนอภาพรวมก่อนการเสนอส่วนย่อย ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากและหลากหลายซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดแก้ปัญหาได้
            2. ทฤษฎีสนาม (Field Theory) เน้นการเข้าไปอยู่ใน “โลก” ของผู้เรียน การสร้างแรงจูงใจหรือแรงขับโดยการจัด สิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและจิตวิทยาให้ดึงดูดความสนใจและสนองความต้องการของ
            3. ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory) ของทอลแมน (Tolman) เน้นการสร้างแรงขับและหรือแรงจูงใจให้ผู้เรียนบรรลุ จุดมุ่งหมายใด ๆ โดยใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย
            4. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Intellectual Development Theory) เน้นเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลที่เป็นไปตามวัยและเชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากกระบวนการการค้นพบด้วยตนเอง หลักการสอน คือ คำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนและจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการนั้น
             5. ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning) ของออซูเบล (Ausubel) มีการนำเสนอความคิดรวบยอดหรือกรอบมโนทัศน์ หรือกรอบแนวคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระนั้น ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระนั้นอย่างมีความหมาย
ข้อเด่นของทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม คือ แนวคิดนี้เน้นการพัฒนาความคิดของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นจะเป็นการกระตุ้นกระบวนการความคิดและสติปัญญา
ข้อจำกัดของทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม คือ จะเน้นทฤษฎีทางความคิดมากเกินไป จะไม่เน้นไปทางการให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง

สรุป
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism) เป็นกลุ่มที่เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นต้องปรับที่กระบวนการให้ความหมายข้อมูลของการเรียนรู้ให้ถูกต้องและชัดเจน เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง

ที่มา
ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
ประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สยุมพร ศรีมุงคุณ. (2553). https://www.gotoknow.org/posts/341272. [Online]
 เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.
Maesinee Fuguro. (2558). https://www.slideshare.net/maesineesepoo/learning-
theory-52567679.30. [Online] เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

045piyaphon :การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ Student Team Achievement Division (STAD)

045piyaphon : ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

045piyaphon : ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)