045piyaphon : ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
          ขวัญจิต ภิญโญชีพ ได้รวบรวมไว้ว่า กลุ่มนี้มีความคิดว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่ อินทรีย์ปะทะสิ่งเร้า (Stimulus) แล้วทำการตอบสนอง (Response) สิ่งเร้า จากนั้นคอยดูผลที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการตอบสนองสิ่งเร้านั้น หากผลเป็นที่พอใจต่อไปหากประสบกับสิ่งเร้าแบบนี้อีก ก็จะทำการตอบสนองเช่นเดิม หากทำซ้ำๆกันก็จะกลายเป็นนิสัย หากผลไม่เป็นที่พอใจ ก็จะเปลี่ยนวิธีการตอบสนอง ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็กไม่เคยพบเทียนที่จุดสว่างมาก่อน(S) จึงเอื้อมมาจับ(R) ผลคือร้อนไม่เป็นที่พอใจ ครั้งต่อไปเมื่อพบเทียนจุดก็จะไม่จับอีก คือเกิดการเรียนรู้จึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ลูกกลับจากโรงเรียนมาเห็นแม่กำลังทำงานบ้านอยู่ก็เข้าช่วย แม่ยิ้ม กล่าวคำชมเชยและหาขนมให้รับประทาน การยิ้ม คำชมเชย และการได้ขนมเป็นรางวัล เป็นแรงเสริม Reinforcer ที่จะส่งผลให้เด็กกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก หากกระทำซ้ำบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นนิสัย

ทิศนา แขมมณี (2547: 50-59) ได้รวบรวมไว้ว่า นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลางคือ ไม่ดีไม่เลว (neutral-active) การกระทำต่างๆ ของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอกพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus-response) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับ “พฤติกรรม” มาก เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด สามารถวัดได้และทดสอบได้ ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้ ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกันคือ
          1. ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism) นักทฤษฎีคนสำคัญคือ ธอร์นไดค์ (ค.ศ.1814-1949)
          2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)
                   2.1 แบบอัตโนมัติ (Classical Conditioning) ของพาฟลอฟ (Pavlov ค.ศ.1849-1936) และวัตสัน (Watson ค.ศ.1878-1958)
                   2.2 แบบต่อเนื่อง (Contiguous Conditioning) ของกัทธรี (Guthrie ค.ศ.1886-1959)
                   2.3 แบบวางเงื่อนไข (Operant Conditioning) ของสกินเนอร์ (Skinner ค.ศ.1904-1990)
          3. ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Thoery)
         
          สุรางค์ โค้วตระกูล (2545) นักคิด นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว (neutral-passive) การกระทำต่าง ๆ เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus-response) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสำคัญกับ “พฤติกรรม”มาก เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ สามารถวัดและทดสอบได้

สรุป
          ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) เป็นการเรียนรู้เกิดจากการที่ อินทรีย์ปะทะสิ่งเร้า (Stimulus) แล้วทำการตอบสนอง (Response) สิ่งเร้า หากผลไม่เป็นที่พอใจ ก็จะเปลี่ยนวิธีการตอบสนองแต่หากเป็นที่น่าพอใจ จะเป็นแรงเสริม Reinforcer ที่จะส่งผลให้กระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก พฤติกรรมเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ สามารถวัดและทดสอบได้ กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสำคัญกับ “พฤติกรรม”มาก

ที่มา
ขวัญจิต ภิญโญชีพ. (2534). หลักการและทฤษฎีเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา.
กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูจันทรเกษม.
ทิศนา แขมมณี. (2547). ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี
ประสิทธิภาพ.(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุรางค์ โคว้ตระกูล. (2545). จิตวิทยาการศึกษา. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :
กรุงเทพมหานคร.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

045piyaphon :การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ Student Team Achievement Division (STAD)

045piyaphon : ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

045piyaphon : ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม(Humanism)